วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมการวิจัย

วัฒนธรรมการวิจัย หมายถึง การที่กลุ่มบุคคลหรือสังคมมีการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้น ได้แก่
1.  ตั้งคำถาม หมายถึง การกำหนดประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การค้นหาคำตอบ
2.  เตรียมการค้นหาคำตอบ หมายถึง การกำหนดวิธีดำเนินการหาคำตอบ
3.  ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ หมายถึง การดำเนินงานเพื่อหาคำตอบตามวิธี   ที่กำหนดไว้ แล้วพิจารณาความถูกต้อง ครบถ้วนของการดำเนินงานและคำตอบที่ได้รับตลอดช่วงการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ และปรับปรุง จนได้คำตอบที่สามารถขจัดความขัดแย้งทางความคิดภายในตน ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งระหว่างความคิดกับหลักฐานเชิงประจักษ์
4.  สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ หมายถึง การสรุปผลการดำเนินการค้นหาคำตอบ และรายงานผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย

การสร้างวัฒนธรรมการวิจัย หมายถึง การดำเนินงานของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและคณะบริหารจัดการระดับภาค เพื่อให้นักเรียนมีวัฒนธรรมการวิจัยในการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการที่ทำให้ครูมีวัฒนธรรมการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย ผู้บริหารโรงเรียนมีความสามารถในการส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และศึกษานิเทศก์ มีความสามารถในการนิเทศติดตามการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียน ครูและนักเรียนมีวัฒนธรรมการวิจัยซึ่งวิธีการดังกล่าวใช้กระบวนการ 6 ขั้น ได้แก่ จุดประกาย ท้าทายความคิด ร่วมจิตวิจัย ก้าวไกลด้วยคาราวาน ขยายฐานเครือข่าย และสืบสายวัฒนธรรมวิจัย

1.  จุดประกาย หมายถึง ขั้นเตรียมการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในแนวทาง การดำเนินงาน ที่ตรงกันระหว่างผู้รับผิดชอบทุกระดับ
2.  ท้าทายความคิด หมายถึง ขั้นเริ่มปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของนักเรียนในโรงเรียน โดยครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
3.  ร่วมจิตวิจัย หมายถึง ขั้นปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของนักเรียน โดยครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จนครูมีทักษะการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และนักเรียนมีทักษะการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย
4.  ก้าวไกลด้วยคาราวาน หมายถึง ขั้นปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของนักเรียน โดยครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ในลักษณะการศึกษาดูงาน เพื่อปรับปรุง/พัฒนาแนวคิดและการปฏิบัติงานในการดำเนินงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
5.  ขยายฐานเครือข่าย หมายถึง ขั้นปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของนักเรียน โดยครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องขยายผลการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยให้กับครูและนักเรียนในโรงเรียนเดียวกันหรือโรงเรียนอื่น
6.  สืบสายวัฒนธรรมวิจัย หมายถึง ขั้นปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยของนักเรียน โดยครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จนนักเรียนเกิดวัฒนธรรมการวิจัยในการเรียนรู้ ครูเกิดวัฒนธรรมการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย

การจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูด้วยวิธีการที่หลากหลาย ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้น ได้แก่ 1) ตั้งคำถาม 2) เตรียมการค้นหาคำตอบ 3) ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ และ 4) สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ

การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย หมายถึง การแสวงหาความรู้และสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้น ได้แก่ 1) ตั้งคำถาม 2) เตรียมการค้นหาคำตอบ 3) ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ และ 4) สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ

วัฒนธรรมการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูที่มุ่งเน้นให้นักเรียนบรรลุ มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัดหรือผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยใช้กระบวนการหรือแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้น ได้แก่ 1) ตั้งคำถาม 2) เตรียมการค้นหาคำตอบ 3) ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ และ 4) สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ

ความสามารถในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย หมายถึง การจัดการอย่างเป็นระบบของผู้บริหารโรงเรียนที่เอื้ออำนวยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย

ความสามารถในการนิเทศ ติดตาม การจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย หมายถึง การช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาของศึกษานิเทศก์เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัย และให้ครูจัดการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดวัฒนธรรมการวิจัยในโรงเรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การนำเสนอ ที่น่าสนใจ

การแข่งขัน โต้วาที ญัตติ โลกจริงดีกว่า โลกออนไลน์